ผมจำได้ไม่ชัดนักว่าผมเริ่มดูฟุตบอลจริงจังได้อย่างไร แต่ที่จำได้ขึ้นใจคือ คุณพ่อผมเชียร์ แมนฯ ยูไนเต็ด ผมรับรู้สิ่งนี้ตั้งแต่จำความได้ สิ่งหนึ่งที่ท่านจะมีกลับบ้านมาเป็นประจำ คือนิตยสารฟุตบอล สิ่งแรกที่ผมทำเมื่อเห็นหนังสือเหล่านี้ ผมจะขอท่านตัดหรือดึงหน้าที่เป็นโปสเตอร์นักเตะเก็บไว้เพื่อติดในห้องนอน แม่เล่าให้ฟังว่า ตอนผมยังเล็กมาก ผมเคยดึงรูปนักเตะของ วูล์ฟเเฮมปตัน ทรงผมสกรีนเฮดมากราบ เพราะคิดว่าเป็นพระ หลังจากพ่อแม่พาไปเที่ยววัด นี่คือความทรงจำแรกที่ผมมีต่อฟุตบอล จากคำบอกเล่าของคุณพ่อและคุณแม่ และหลังจากนั้นไม่นานผมก็ขายวิญญาณให้ “ปีศาจแดง “
#รักแรกและรักเดียว
ย้อนกลับไปในคืนวันที่ 26 พฤษภาคม 1999 ซึ่งเป็นค่ำคืนที่เปลี่ยนชีวิตผมไปตลอดกาล ผมตื่นมากลางดึก เนื่องจากได้ยินเสียงดังจากอีกห้อง จึงเปิดเข้าไปดู เห็นคุณพ่อกำลังส่งเสียงดัง เฮลั่นบ้าน พร้อมกับ เครื่องอัดวีดีโอเพื่อบันทึกเกมการแข่งขัน ระหว่าง บาเยิร์น มิวนิค พบ แมนฯ ยูไนเต็ด ซึ่งเป็นนัดชิงชนะเลิศ ยูฟ่า เเชมเปี้ยนส์ลีก ในปีนั้น พ่อผมบอกว่า ” แมนฯยูทำได้ ลูก แมนฯยูทำได้ ” พูดซ้ำไปซ้ำมาอยู่หลายรอบ เกมนั้นแมนฯยู พลิกกลับมาชนะแบบปาฏิหารย์ ค่ำวันเดียวกัน ผมได้ดูไฮไลท์ประตูของ เท็ดดี้ เชอร์ริงเเฮม และ โอเล่ กุนนาร์ โซลชา ซ้ำไปซ้ำมาหลายรอบในทีวี เมื่อคืนนั้นกำลังจะผ่านไป ผมจึงตัดสินใจแบบจริงจังว่าผมจะเชียร์ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ด้วยความซื่อสัตย์ ภักดี และมีความสุขไปด้วยกันกับพ่อ นอกจากการดูฟุตบอลจะเป็นเวลาที่มีความสุขแล้ว ยังเป็นเวลาของครอบครัวเราด้วย เพราะคุณแม่และน้องสาวก็จะเข้ามาร่วมวงอยู่เป็นประจำ
#ช่วงเวลาเเห่งความสุข
ช่วงปิดฤดูกาล เดือนมิถุนายนถึงกลางเดือนสิงหาคมเป็นอะไรที่น่าเบื่อมากๆ สำหรับคอบอลผีแดงอย่างผม หลายๆท่านบอกว่า ยังมีบอลทีมชาติไง ผมต้องเรียนตามตรงว่า ผมไม่อินกับบอลทีมชาติ และไม่มีทีมชาติที่เชียร์เลย นอกจากทีมชาติไทย เพราะสโมสรเดียวที่ผมเชียร์ คือ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ทำให้ช่วงเวลา 2-3เดือนนั้น เป็นช่วงเเห่งการสะสมวีดีโอ หรือต่อมาเป็นซีดี สมุดภาพ และของที่ระลึกสโมสร การได้ย้อนกลับไปดูวีดีโอเก่าๆ การยิงประตูสวยๆ เป็นอะไรที่มีความสุขมากและฆ่าเวลาได้ดี ตามประสาเด็กน้อยที่ชอบแมนฯ ยูไนเต็ดเป็นชีวิตจิตใจ ประตูที่ผมชอบมากที่สุด และ เห็นบ่อยที่สุดในวีดีโอสมัยนั้นของปีศาจแดงคือ ลูกเอียงตัวยิงของ เอริค คันโตน่า ในเกม ชนะ ลิเวอร์พูล 1-0 ศึก เอฟเอ คัพ ปี 1996 ประตูของ “เดอะ คิง” เกิดขึ้นช่วงท้ายเกม นาที 86 ท่ามกลางแฟนบอลในเวมบลี่ย์ กว่า 79000 คน ซึ่งเยอะมากๆในสมัยนั้น ฤดูกาลดังกล่าว ยูไนเต็ดจบด้วยดับเบิ้ลแชมป์ ได้ทั้ง พรีเมียร์ลีก และ เอฟเอคัพ ซึ่งเป็นการกลับมาอย่างยิ่งใหญ่ หลังฤดูกาลก่อนหน้าไม่ได้ถ้วยติดมือ เสียแชมป์พรีเมียร์ลีก ให้ แบล็คเบิร์น โรเวอร์ ฤดูกาล 1994/1995
#นักเตะในดวงใจ
ผมชื่นชอบ พอล สโคลส์ เป็นชีวิตจิตใจ จากเอกลักษณ์ในการวางบอลยาวที่แม่นยำ ลูกบู๊ดุดัน เคียงข้าง รอย คืน เป็นคู่มิดฟิลด์ที่ครบเครื่องที่สุด ภาพจำในจังหวะวอลเล่ย์แบบไม่ต้องจับ และ การซัดไกล จากนอกกรอบเขตโทษ หรือแม้กระทั่งลูกเปิดเตะมุมจากเบ็คเเฮม ให้สโคลส์ได้ซัด ยังเป็นภาพติดตาตรึงใจของผมจนถึงทุกวันนี้ สโคลส์ เล่นด้วยมันสมองมากกว่าพละกำลัง แต่ไม่ใช่ว่าเขาจะไม่ใช้พลังเลย สิ่งที่แสดงออกมาในสนามทั้งจังหวะเลือกช็อตยิง การเล่นเป็นทีม ล้วนเป็นสิ่งที่ผมชื่นชอบมาก ซึ่งหาได้ยากมากๆแล้วสำหรับนักเตะปัจจุบัน
#หัวใจเต้นแรงและสูบฉีด
จาก “ความหวัง และ ศรัทธา” ที่ทีมเอาตัวรอดได้ครั้งแล้วครั้งเล่าเมื่อสกอร์ตามหลังหรือเมื่อต้องการชัยชนะ จากสถานการณ์ที่กำลังจะเสมอ เมื่อทำได้เรื่อยๆ มันจึงกลายเป็น “คาแรคเตอร์” สิ่งเหล่านั้น ถูกสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น จาก เอริค คันโตน่า ดไวท์ ยอร์ค แอนดี้ โคล เป็น รุด ฟาน นิสเตลรอย คริสเตียโน่ โรนัลโด้ เวย์น รูนี่ย์ ดิมิทาร์ เบอร์บาตอฟ จนถึง โรบิน ฟาน เพอร์ซี่ ระยะเวลาผ่านไป จนมาถึงแมตช์ที่ผมดูแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดลงแข่งขันและมีหัวใจเต้นแรงและสูงฉีดมากที่สุด คือเกมยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก นัดชิงชนะเลิศ ที่พบกับ เชลซี เมื่อปี 2008
ทุกครั้งที่ทีมได้เข้าชิงชนะเลิศรายการใดรายการหนึ่ง เป็นช่วงเวลาที่พิเศษเสมอ ความทรงจำครั้งเมื่อปี 1999 ฉายย้อนกลับมาอีกครั้ง ผมอยากกลับไปสัมผัสกับช่วงเวลาที่ทีมเฮดังลั่น ทุกคนส่งเสียงร้องเพลง เมื่อเอาชนะคู่แข่งในรอบชิงชนะเลิศยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก เหมือนกับที่เคยทำได้กับ บาเยิร์น มิวนิค
Leave a Reply