ศึกฟุตบอลพรีเมียร์ลีก อังกฤษ ฤดูกาล 2019-2020 กำลังจะเปิดฉากขึ้นในไม่กี่วันข้างหน้า บรรดาคอลูกหนังต่างเฝ้ารอดูผลงานของทีมที่ตัวเองรัก และหนึ่งในทีมที่มีเหล่าแฟนบอลจับตามองมากเป็นพิเศษนั่นคือ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด
เนื่องด้วยผลงานที่ย่ำแย่ในซีซั่นก่อน ทำให้ผู้เป็นกุนซืออย่าง โอเล่ กุนนาร์ โซลชา ต้องรีบแก้ไขจุดบกพร่องต่างๆให้คลี่คลายโดยเร็ว ทั้งเรื่องของตัวผู้เล่น ระบบและแท็คติคของทีม
ดังนั้นผมจึงอาสาพาทุกท่านไปเจาะลึก 11 ผู้เล่นตัวจริง ระบบและวิธีการการเล่นภายใต้การคุมทัพของ “น้าโอเล่” ว่าแต่ละแผนการมันมีข้อดี ข้อเสียอย่างไร และใครเหมาะกับแผนไหนบ้าง เรามาลุยกันเลยครับ (จัดโดยการอ้างอิงจากขุมกำลังที่มีอยู่ในปัจจุบัน)
1.ระบบ 4-2-3-1
ผู้รักษาประตู : ดาบิด เด เคอา
กองหลัง : อารอน วาน-บิสซาก้า , วิคตอร์ ลินเดอเลิฟ , แฮร์รี่ แม็คไกวร์ และ ลุค ชอว์
กองกลาง : ปอล ป็อกบา , เนมานย่า มาติช หรือ สกอตต์ แม็คโทมิเนย์
สามตัวรุกหลังกองหน้า : แดเนี่ยล เจมส์ , เจสซี่ ลินการ์ด และ อ็องโตนี่ย์ มาร์กซิยาล
กองหน้าตัวเป้า : มาร์คัส แรชฟอร์ด
#ข้อดี
นี่คือแผนการยืนตำแหน่งที่คาดว่า “น้าโอเล่” จะใช้เป็นแผนหลักในฤดูกาลนี้ ดูได้จากใช้แผนนี้ในช่วงปรีซีซั่นทุกนัดที่ผ่านมาทั้งหมด 6 เกม แน่นอนว่านักเตะในทีมย่อมเข้าใจในการยืนตำแหน่งเช่นนี้มากที่สุด
นอกจากนั้น บรรดา 3 ตัวรุกหลังกองหน้า ยังสามารถสลับหมุนเวียนตำแหน่งกันได้ เช่น “หนูหมากอาจสลับกันไปยืนหน้าเป้ากับแรชชี่” , “หนูเจส์อาจไปขึ้นเกมฝั่งซ้ายแล้วให้แรชชี่มาเล่นด้านขวา” ตรงจุดนี้มันอาจทำให้เกมรับของคู่แข่งสับสนมึนงงว่าต้องตามประกบใคร ยิ่งนักเตะทั้งหมดเข้าใจในแผนนี้ ประสิทธิภาพย่อมมีมากที่สุดตามไปด้วย
#ข้อเสีย
จุดที่น่าเป็นกังวลมากที่สุดในแผนนี้คือ “การเล่นเกมรับมิดฟิลด์คู่กลาง” ทั่วทั้งโลกรู้ว่า ปอล ป็อกบา หากเขาไม่ย้ายทีมจะจอง 1 ตำแหน่ง การเล่นเกมรับของมิดฟิลด์แชมป์โลกถือว่าน้อย (เล่นได้แต่ไม่มากพอ) มันทำให้ภาระหนักตกไปอยู่ที่ ”คู่ขาของเขา”
เนมานย่า มาติช ด้วยอายุที่แตะหลักสามมันทำให้สภาพร่างกายโรยรา ฟอร์มของเขาก็ดร็อปลงไปเห็นได้ชัด ขยับมาในรายของ สกอตต์ แท็คโทมิเนย์ ที่แฟนผีเกือบทุกราย (รวมถึงตัวผม) เลือกให้เขาเป็นตัวหลักของทีมแทนที่แข้งชาวเซิร์บ เพราะในช่วงที่ผ่านมา เด็กหนุ่มผู้นี้แสดงให้เห็นว่า เขาดูโตขึ้นทั้งในด้านวุฒิภาวะและฟอร์มการเล่นที่นิ่งขึ้น น่าสนใจว่าผู้เป็นโค้ชจะเลือกใครเป็นมิดฟิลด์ตัวหลักคู่กับ “เจ้าป็อก”
หากเป็นในรายของ เฟร็ด หรือ อันเดรียส เปเรยร่า ยืนคู่กับป็อกบา บอกได้เลยครับว่า “พังพินาศ วิ่งกันน้ำบานแน่นอน” เพราะทั้งคู่รวมถึงแข้งเลือดเฟร้นช์ไม่ได้มีการเล่นเกมรับที่ไว้ใจได้เลย ภาระสุดหนักอึ้งจะไปกองอยู่ที่แผงหลังทั้งหมด
2.ระบบ 4-3-3
ผู้รักษาประตู : ดาบิด เด เคอา
กองหลัง : อารอน วาน-บิสซาก้า , วิคตอร์ ลินเดอเลิฟ , แฮร์รี่ แม็คไกวร์ และ ลุค ชอว์
กองกลาง : ปอล ป็อกบา , เนมานย่า มาติช และ สกอตต์ แม็คโทมิเนย์
กองหน้า :อเล็กซิส ซานเชซ, มาร์คัส แรชฟอร์ด และ อ็องโตนี่ย์ มาร์กซิยาล
#ข้อดี
หากเลือกที่จะลงเล่นในระบบนี้ ผมมองว่า อเล็กซิส จะมีประโยชน์มากกว่า ลินการ์ด ด้วยชั้นเชิง ประสบการณ์ที่มีมากกว่า (ในกรณีที่คืนฟอร์ม) ข้อดีต่อมาคือการที่ทีมจะมีมิดฟิลด์เพิ่มขึ้นมา 1 คน มันทำให้แดนกลางแน่นขึ้น ป็อกบาคอยปั้นเกมรุกให้กับทีมด้วยการขยันยืนสูงขึ้นนิดหน่อย โดยมี มาติช อยู่หน้าแผงแบ็คโฟร์คอยคุมเกมรับ ส่วนแม็คโทมิเนย์ เป็นผึ้งงานในฐานะ Box-to-Box ของทีม หรืออาจจะสลับเอา เฟร็ด กับ อันเดรียส เปเรยร่า ลงมาเล่นได้ในบางเกม ส่วนในแดนหน้าก็ยังสลับหมุนเวียนกันได้ เช่น ชายเล็กอาจขยับเข้าไปเล่นเป็น “หน้าเป้าตัวหลอก” แล้วให้สองตัวจี๊ด “หนูหมากและแรชชี่” ถ่างออกมารับบอลริมเส้นเพื่อเล่นเกมสวนกลับ โดยมี เจสซี่ ลินการ์ด , แดเนี่ยล เจมส์ และ ฆวน มาต้า เป็นตัวสอดแทรก
#ข้อเสีย
ข้อเสียในแผนการเล่นนี้ ผมคิดว่าอาจทำให้ทีมเจอกับปัญหาเดิมในฤดูกาลก่อนนั่นคือ “การเดินทอดน่องของนักเตะ” เพราะเมื่อในพื้นที่ของแดนกลางและแดนหน้ามีผู้เล่นยืนประจำการมากขึ้น อาจทำให้นักเตะเกี่ยงกัน อาทิ “เออมีมึงยืนอยู่แล้ว กูค่อยๆวิ่งลงดีกว่า” , “เห้ยมึงกับกูใครจะเข้าบอลวะ” เป็นต้น สถานการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นบ่อยมากในปีที่ผ่านมา ทั้งนี้มันก็ขึ้นอยู่กับทัศนคติของผู้เล่นด้วย รวมไปถึงการที่ผู้เป็นโค้ช จะมีวิธีการแก้ปัญหาตรงจุดนี้อย่างไร
3.ระบบ 4-3-1-2
ผู้รักษาประตู : ดาบิด เด เคอา
กองหลัง : อารอน วาน-บิสซาก้า , วิคตอร์ ลินเดอเลิฟ , แฮร์รี่ แม็คไกวร์ และ ลุค ชอว์
กองกลางในระนาบเดียวกัน : ปอล ป็อกบา , เนมานย่า มาติช , สกอตต์ แม็คโทมิเนย์
กองกลางตัวรุก : ฆวน มาต้า
คู่กองหน้า : มาร์คัส แรชฟอร์ด กับ อ็องโตนี่ย์ มาร์กซิยาล
#ข้อดี
ข้อดีแผนการเล่นนี้คือการที่ทีมจะมีกองกลาง “ยืนอยู่ในระนาบเดียวกัน” ทำให้สามารถแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบพื้นที่แต่ละฝั่งกันได้อย่างชัดเจน และเหตุที่ผมเลือก มาต้า ลงเล่นก่อน ลินการ์ด เป็นเพราะแข้งชาวสเปน เหมาะกับการเล่นเป็น “ตัวรุกคอยปั้นเกมรุก No.10” ด้วยการมีบอลจ่ายแบบ “คิลเลอร์พาส” อีกทั้งยังเหมาะกับการเป็นตัวสอดขึ้นมาทำประตูจากแถวสองได้ดี สังเกตได้จากส่วนใหญ่ประตูที่เขาทำได้จะมาจากจังหวะที่มีเพื่อนพาบอลไปจนสุดเส้นแล้วตบกลับมาหน้าประตู ซึ่งในฐานะ “กลางตัวรุก No.10” ผมมองว่า ฆวน ทำได้ดีและมีคุณสมบัติการเล่นตำแหน่งนี้มากกว่า ลินการ์ด
ข้อเสีย
จะเห็นว่าแผนการเล่นนี้ไม่มี “ผู้เล่นตำแหน่งปีก” คอยขึ้นบอลในพื้นที่ริมเส้น ดังนั้นภาระนี้จึงตกเป็นของ “ฟูลแบ็คทั้งสองฝั่ง” ในชนิดที่เลี่ยงไม่ได้ ขวัญใจแฟนผีคนใหม่อย่าง “AWB” และฝั่งซ้ายอย่าง ลุค ชอว์ จะต้องขึ้นมามีส่วนร่วมกับเกมรุกมากขึ้นกว่าเดิมที่ปกติก็เติมเกมอยู่แล้ว จุดนี้อาจทำให้คู่แข่งวางแผนเล่นงานด้วยเกมโต้กลับเร็วในจังหวะที่ทั้งสองคนเติมเกมรุกแล้วกลับลงมาประจำตำแหน่งไม่ทัน หากผู้เป็นกุนซืออย่าง “น้าโอเล่” คิดใช้แผนการเล่นนี้ ทีมจะต้องมีการซักซ้อมกันเป็นอย่างดีว่าใครจะเป็นคนที่ลงไปยืน “cover พื้นที่” ของฟูลแบ็คทั้งสองฝั่งที่ทิ้งว่างเอาไว้ยามเติมเกมบุก
ทั้งหมดนี้เป็นการคาดการณ์แผนการเล่น วิธีการยืนตำแหน่งที่ โอเล่ กุนนาร์ โซลชา จะใช้ในฤดูกาลที่ใกล้จะรูดม่านเปิดฉากขึ้น อาจจะมีผลิกโผหรือต่างออกไปจากที่ผมนำมาเสนอกับทุกท่าน สุดท้ายนี้ไม่ว่าผลงานของทีมในช่วง 9-10 เดือนต่อจากนี้จะเป็นอย่างไร ??
“น้าโอเล่” จะพาปีศาจตนนี้ไปไหนทิศทางใด และจะกลับมาทวงความยิ่งใหญ่ดั่งเช่นในวันวานได้อีกครั้งหรือไม่ ??
ต้องบอกกับทุกท่านว่า..
“ผมรอเกมเปิดสนามกับ เชลซี ไม่ไหวแล้วครับ”
#ชัมแมนยูสู้ตาย
#แมนยูสู้ตาย #แมนยู #ปีศาจแดง #โซลชา
Leave a Reply