เสียดาย พวกนายไม่ได้ไปฟุตบอลโลก (ภาค 1)
ไอซ์แลนด์ และ ปานามา อาจเป็นปรากฎการณ์ใหม่ของเวทีที่ชื่อ “ฟุตบอลโลก” … นั่นคือสิ่งที่เราต้องพูดถึงกัน
อย่างไรก็ตาม น่าเสียดายสำหรับหลายประเทศ ที่ต้องตกรถไปเล่นที่รัสเซียช่วงกลางปีหน้า …. มีใครบ้าง ตามไปดูกันครับ
1.เวลส์
ขุนพลมังกรแดงไม่ได้มีนักเตะชื่อดังหรือคุณภาพคับแก้ว เว้นแต่ แกเร็ธ เบล เพียงรายเดียว … หนุ่มน้อยพญาวานรอุตส่าห์กดไปถึง 4 ประตูในรอบคัดเลือก แต่ปัญหาคือ เวลส์ทำแต้มหล่นด้วยการเสมอมากเกินไปในช่วงต้น จนต้องมาเร่งเครื่องช่วงสุดท้ายและสายเกินกาล แถมการมาขาด เบล ในวันชี้ชะตากับ ไอร์แลนด์ คือเหตุผลสำคัญที่สุดที่พวกเขาต้องตกรอบคัดเลือก
น่าเสียดายที่เรื่องราวเทพนิยายในยูโร 2016 … ไม่ได้มีภาคต่อมายังฟุตบอลโลก 2018
2.มอนเตเนโกร
ขณะที่ทีมเพื่อนบ้านที่เพิ่งแยกตัวอย่าง เซอร์เบีย เคยสัมผัสฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายมาแล้วในปี 2010 นับตั้งแต่แยกประเทศ แต่กับมอนเตเนโกร พวกเขามาดีมากในรอบคัดเลือกหนนี้ … “หนูโย” สเตฟาน โยเวติช คือสตาร์อันดับ 1 ของมอนเตฯ ด้วยผลงาน 7 ประตู และทำให้ทีมเก็บได้ถึง 16 แต้มจาก 8 นัด มีโอกาสดีมากที่จะลุ้นเข้ารอบเพลย์ออฟเป็นอย่างน้อย
แต่จุดเปลี่ยนของพวกเขาอยู่ที่เกมนัดรองสุดท้ายที่เปิดบ้านแพ้ เดนมาร์ก ทำให้สถานการณ์พลิกผัน กลายเป็นขุนพลโคนม แซงหน้าไปได้เปรียบในเกมสุดท้าย … แถมมอนเตฯ ยังดวงกุดสุดๆ ด้วยการต้องบุกไปเยือน โปแลนด์ อันดับ 1 ของกลุ่ม ด้วยเงื่อนไขต้องชนะเท่านั้น … สุดท้ายเมื่อบุกแหลกทิ้งเกมรับ ก็เจอขุนพลโปลไล่ถล่มกลับมา 2-4
โยเวติชและเพื่อนก็ยังคงต้องรอต่อไปในอีก 5 ปีข้างหน้า
3.สก็อตแลนด์
นับตั้งแต่ฟุตบอลโลก ฟร้องซ์ 98 ที่ฝรั่งเศสเมื่อ 19 ปีที่แล้ว … ขุนพลแดนวิสกี้ก็ยังไม่เคยผ่านเข้าไปเล่นเมเจอร์ ทัวร์นาเม้นต์ได้อีกเลย …
พวกเขาเกือบทำได้ในหนนี้…
เลห์ กริฟฟิธ จอมซัดลูกนิ่งจากกลาสโกว์ เซลติก และ โรเบิร์ต สนอดกราสส์ แข้งจากเวสต์แฮม ยูไนเต็ด ทำรวมคนละ 4 ประตู … พวกเขาเก็บได้ถึง 18 คะแนนจาก 10 เกม ซึ่งไม่น้อยเลย ที่สำคัญพวกเขาแพ้เพียงสองเกมเท่านั้น คือเกมบุกเยือนอังกฤษ และ สโลวาเกีย
แข้งตาร์ตันต้องการเพียงผลชนะสโลวีเนีย เพื่อการไปเพลย์ออฟ พวกเขาต้องพึ่งแค่ตัวเอง แต่น่าเสียดาย ที่ลูกทีมกอร์ดอน สตรัคคั่น ทำได้เพียงแค่เอาตัวรอดจากความพ่ายแพ้
สก็อตแลนด์ จบทัวร์นาเม้นต์ด้วยการมี 18 แต้ม เท่ากับ สโลวาเกีย แต่ประตูได้เสียเป็นรอง … ขุนพลสโลวักได้ไปลุ้นเฮอยู่พักหนึ่ง ก่อนที่สุดท้ายจะกลายเป็นทีมอันดับ 2 ที่แย่ที่สุด และอกหักตกรอบ
ซึ่งอย่างที่กล่าวไป ถ้าสก็อตแลนด์บุกชนะสโลวีเนียได้ในเกมสุดท้าย … พวกเขาคงได้ผ่านไปเล่นเพลย์ออฟ และทีมอันดับ 2 ที่แย่ที่สุด อาจเป็นของ ไอร์แลนด์ แทน
4.แคเมอรูน
“หมอผี” เหมือนจะทวงความยิ่งใหญ่ของแว่นแคว้นแอฟริกาคืนกลับมาได้อีกครั้ง หลังคว้าแชมป์แอฟริกา คัพ ออฟ เนชั่นส์ เมื่อช่วงต้นปี
ในรอบคัดเลือกหนนี้พวกเขาโคจรมาอยู่ในกลุ่ม บี ซึ่งเป็น “กรุ๊ปออฟเดธ” … การเผชิญหน้ากับทั้ง ไนจีเรีย , แอลจีเรีย และ แซมเบีย อดีตแชมป์แอฟริกา คัพ ออฟ เนชั่นส์ เมื่อปี 2012 แน่นอนเป็นงานหนัก
ผลงานของ แคเมอรูน ในการคัดเลือกรอบนี้ น่าผิดหวัง ทีเด็ดในแนวรุกของพวกเขามีแค่ แว็งซ็องต์ อาบูบาการ์ ศูนย์หน้าจากเอฟซี ปอร์โต้ ส่วนรายอื่น เอริค มักซิม ชูโป โมติง และ คลินตัน เอ็นจิเย่ ไม่มีส่วนร่วมมากพอ
แม้จะจบแค่รอบแบ่งกลุ่มและแพ้รวดมา 2 ครั้งซ้อนที่แอฟริกาใต้และบราซิล แต่ในรอบ 28 ปี แคเมอรูนพลาดตั๋วรอบสุดท้ายแค่ครั้งเดียวเท่านั้นในปี 2006 ที่เยอรมนี
แน่นอนตราบาปคงต้องตกไปอยู่กับฮูโก้ บรูส นายใหญ่ของทีมอย่างไม่ต้องสงสัย
5.แอลจีเรีย
“จิ้งจอกทะเลทราย” ถือเป็นเต็งลำดับต้นๆที่หลายฝ่ายคิดว่า น่าจะผ่านรอบคัดเลือกจากโซนแอฟริกาไปได้อย่างไม่ยากเย็นเท่าใดนัก
ลูคัส อัลคาราซ มีขุมกำลังที่ได้เปรียบทีมอื่นพอสมควร แม้จะอยู่กรุ๊ปออฟเดธร่วมกับ แคเมอรูนด้านบน แต่เขามีแข้งชั้นนำอย่าง ราชิด เกซเซล จากโมนาโก , โซฟิยาน เฟกฮูลี่ อดีตดาวเตะบาเลนเซีย , เฟาซี่ กูลาม แบ็กซ้ายตัวเก่งจากนาโปลี และสองแนวรุกชื่อดังอย่าง อิสลาม สลิมานี่ และ ริยาด มาห์เรซ จากเลสเตอร์ ซิตี้
แม้ ณ เวลานี้จะยังไม่จบทัวร์นาเม้นต์ดี แต่แอลจีเรียเก็บได้เพียงแต้มเดียวจาก 5 เกมแรก … แน่นอนพวกเขาตกรอบไปอย่างดูไม่จืด
ดูจากไลน์อัพ พวกเขาน่าจะเป็นทีมจากดินแดนกาฬทวีปที่แข็งแกร่งที่สุดทีมหนึ่งด้วยซ้ำ น่าเสียดายที่ฟอร์มในสนามต่างจากสิ่งที่ควรเป็น
6.กาน่า
ทีม “ดาวดำ” เคยสร้างประวัติศาสตร์ในศึกฟุตบอลโลก 2010 ที่แอฟริกาใต้ … หากไม่มีมือของหลุยส์ ซัวเรซ แข้งชื่อก้องทีมชาติอุรุกวัย ครั้งนั้นพวกเขาคงทะลุสู่รอบรองชนะเลิศไปแล้ว
และด้วยมาตรฐานที่ตั้งไว้สูง ทำให้หลายฝ่ายเชื่อว่า กาน่า จะยังประคองตัวผ่านเข้ารอบสุดท้ายได้ในฟุตบอลโลกหนนี้
แน่นอนในปี 2010 … ขุมกำลังสำคัญของ กาน่า อยู่ที่ เควิน ปรินซ์ บัวเต็ง และ ไมเคิ่ล เอสเซียง บวกกับช่วงนั้นหักลบไป กียาน อายุเพียงแค่ 24 ปี ยังคงมีพละกำลังมากกว่าทุกวันนี้
ตัดภาพมาที่ปัจจุบัน … กาน่ามีมิดฟิลด์ตัวหลักคือโทมัส ปาร์เตย์ ที่ยังลูกผีลูกคนอยู่กับแอตเลติโก้ มาดริด ส่วน สองพี่น้อง อังเดร และ จอร์แดน อายิว ที่สอดแทรกขึ้นมา ก็ยังไม่มีอิทธิพลพอจะช่วยทีมได้
จาก 5 เกมแรก … กาน่าเก็บชัยชนะได้เพียงแค่เกมเดียว … ซึ่งในครั้งนี้พวกเขาต้องยอมแพ้แก่ขุนพลอียิปต์ นำโดย โมฮัมเหม็ด ซาลาห์ สตาร์จากลิเวอร์พูล ว่าเหมาะสมกว่ากับการผ่านเข้าไปเล่นฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย
7.ชิลี
แชมป์โคปา อเมริกา สองสมัยซ้อน และรั้งอันดับที่ 9 ของโลก ตามฟีฟ่าแรงกิ้ง
อย่างแย่ ชิลีควรติด 1 ใน 4 ของโซนอเมริกาใต้ …
ซึ่งแน่นอน พวกเขาทำผลงานติดลมบน อยู่หัวตารางมาตลอด เว้นแต่ช่วงโค้งสุดท้ายที่ฟอร์มหลุดอย่างน่าเกลียด ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2016 เป็นต้นมา พวกเขาชนะเพียงแค่ 2 เกม
พวกเขาต้องมาดิ้นรนในนัดสุดท้าย บุกไปเยือนบราซิลที่เข้ารอบแบบสง่างามไปก่อนหน้านั้นแล้ว
ด้วยประตูได้เสียที่เท่ากับ เปรู ก่อนแข่ง … ทำให้พวกเขาแพ้ไม่ได้ จำเป็นต้องเก็บหนึ่งแต้มเป็นอย่างน้อย
แต่ขุนพล “ลา โรฮ่า” ต้านความแข็งแกร่งของบราซิลชุดนี้ไม่ไหวจริงๆ
ประจวบเหมาะกับอีกคู่ เปรู กับ โคลอมเบีย เมื่อทราบผลเกมบราซิล – ชิลี … พวกเขาก็เคาะบอลเตะถ่วงจนหมดเวลา … เสียงนกหวีดดังที่เอสตาดิโอ นาซิอองนาล เมืองลิม่า , ทั้งนักเตะและแฟนบอลของเปรูและโคลอมเบียโผเข้ากอดกัน … ขุนพลแดนโคเคนจบที่ 4 ไปฟุตบอลโลกอัตโนมัติ ส่วนเปรู แค่ได้เพลย์ออฟต่อลมหายใจ ก็เกินพอแล้วในช่วงเวลานั้น
ตัดภาพกลับมาที่เซา เปาโล … แข้งตัวหลักชิลีนำโดย อเล็กซิส ซานเชซ และ ชาร์ลส์ อรานกิซ สลดกับสิ่งที่เกิดขึ้น … มีแต่พวกเขาที่ต้องหลั่งน้ำตา ท่ามกลางเพื่อนบ้านหลายทีมที่ส่งเสียงโห่ร้อง
แต่เอาเข้าจริง … ชิลีโทษใครไม่ได้ พวกเขาทำแต้มหล่นมากเกินไป … บางทีพวกเขาอาจประมาท และยึดติดกับแชมป์โคปา อเมริกาสองสมัย
บทเรียนชีวิตสอนใจ … คนเราแม้ว่าจะประสบความสำเร็จมาแค่ไหน ก็ไม่ควรชะล่าใจกับอะไรทั้งสิ้น
8.สหรัฐอเมริกา
เอาเข้าจริงขุนพลแยงกี้ส์ชุดนี้ก็ไม่ได้แกร่งเหมือนฟุตบอลโลกครั้งก่อนๆ … คลินท์ เดมพ์ซ่ย์ ต้องคอยแบกทีมในวัย 34 ปี ส่วนซูเปอร์สตาร์ที่พอขายได้ ก็ต้องหันไปหา คริสเตียน พูลิซิช ของโบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ ที่วัยละอ่อนเพียงแค่ 19 ปีเท่านั้น
นอกจากนั้นบรูซ อารีน่า กุนซือของทีมมีนักเตะที่ค้าแข้งในอังกฤษให้เลือก 3 ราย คือเดอันเดร เย็ดลิน ของนิวคาสเซิ่ล , ทิม รีม ของฟูแล่ม และ เจฟฟ์ คาเมร่อน จากสโต๊ค ซิตี้ …
แต่ทั้งสามคนก็เป็นกองหลังเสียหมด
ส่วนแข้งที่เหลือมีแต่ตัวที่เล่นในศึกเมเจอร์ลีก สหรัฐฯ
เมื่อพิจารณาจากองค์ประกอบต่างๆ … อาจกล่าวได้ว่า “สหรัฐอเมริกา” ชุดนี้ … มีแต่ชื่อที่ใช้ไว้ขู่ทีมอื่นในโซนคอนคาเคฟ… เราเห็นกันจนชินตาว่า จะดีจะร้าย แข้งแยงกี้ส์ก็ต้องเข้าสู่รอบสุดท้าย
แต่ไม่ใช่ครั้งนี้ ที่มีทีมม้ามืดใจสู้ที่ชื่อ “ปานามา” มาแย่งโควต้าของพวกเขาไป
พวกเขาเก็บแต้มได้น้อย และปล่อยให้ เม็กซิโก กับ คอสตาริก้า โกยแต้มหนีมากเกินไป … และแน่นอนในเกมสุดท้าย ความพ่ายแพ้ต่อ ตรินิแดด แอนด์ โตเบโก้ บ๊วยของกลุ่ม … เผยภาพความจริงให้เห็นชัดเจนว่าพวกเขาต้อง “โทษตัวเอง“
เพราะหากพวกเขาเน้นสักหน่อยและเอาชนะ ตรินิแดด ได้ตามคาด หรืออย่างน้อยที่สุด เก็บผลเสมอ … สหรัฐฯ คงไม่ตกต่ำถึงขนาดต้องตกรอบ อย่างน้อย ก็คงได้เกาะไปเพลย์ออฟแบบเฉียดฉิว
ครับ … เป็นเคสเดียวกับชิลี … สหรัฐฯ ต้องโทษตัวเองสถานเดียว … ไม่ใช่โทษตัวเองแค่เกมกับตรินิแดด หรือทัวร์นาเม้นต์นี้
แต่อย่างที่เกริ่นไปข้างต้นครับ … ศักยภาพฟุตบอล (หรือซอคเกอร์) ของเมเจอร์ลีก ยังเป็นรองที่อื่นอยู่มาก
ครั้งนี้อาจกล่าวได้ว่าเป็นอุบัติเหตุ หรือไม่ว่าเหตุผลอะไรก็ตาม (เพราะส่วนหนึ่งเกมอีกคู่ ปานามา ได้ประตูจากจังหวะตัดสินผิดพลาดของผู้ตัดสิน เกมพบ คอสตาริก้า)
แต่อีก 5 ปีข้างหน้า … อย่างน้อย สหรัฐฯ คงต้องกู้ชื่อความเป็นมหาอำนาจของโซนคอนคาเคฟคืนมา … ณ เวลานั้น เดมพ์ซี่ย์ คงอยู่ประคองทีมไม่ไหวแล้ว แต่อย่างน้อย คริสเตียน พูลิซิช น่าจะก้าวขึ้นมาเป็นสตาร์หมายเลข 1 คนต่อไป
พูลิซิช น่าจะซึมซับความรู้สึกผิดหวังจากครั้งนี้ได้ดีที่สุด … บางทีการตกรอบของสหรัฐฯ ก็สะท้อนให้พวกเขาเห็นว่า ณ ขณะนี้พวกเขาไม่ใช่เต้ยตลอดกาลของโซนคอนคาเคฟอีกต่อไปแล้ว
ฟุตบอลปัจจุบันพัฒนาเร็วมาก ไม่มีทีมยักษ์ใหญ่และรองบ่อนชัดเจนอีกต่อไป
เหมือนกับเทคโนโลยีและโลกโซเชี่ยล … ทุกทีมก็มีแท็กติกและนักเตะฉกาจฉกรรจ์เหมือนกัน …
เห็นที หนังสือพิมพ์หน้าหนึ่งในดินแดนเทพีเสรีภาพวันนี้ … คนคงพูดถึงคำว่า “ซอคเกอร์” กันมากขึ้น
กีฬาที่ไม่ใช่หมายเลข 1 ของประเทศ … แต่ก็ทำให้พวกเขาหัวเสียกันอย่างไม่มีใครคาดคิด!
9.เนเธอร์แลนด์
หากพูดถึงทีมที่ “ขาดสอบ” รอบนี้ … ชื่อของ ‘ดิ ออรันเย่’ ต้องถูกเสนอมาเป็นชื่อแรกอย่างแน่นอน
นับย้อนไปตั้งแต่สมัยยุครุ่งเรือง … ปี 2010 คว้ารองแชมป์ และปี 2014 จบที่อันดับที่ 3 ภายใต้กุนซือ หลุยส์ ฟาน กัล
ทุกอย่างของเนเธอร์แลนด์ก็มีแต่คำว่า “ขาลง”
สื่อต่างประเทศวิเคราะห์เอาไว้น่าสนใจ … เพราะหลังจาก ฟาน กัล อำลาทีมไปคุมแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดในปี 2014 … สมาคมฟุตบอลเนเธอร์แลนด์ (KNVB) ตัดสินใจเลือก กุส ฮิดดิ้งค์ เข้ามาทำทีม … ซึ่งพวกเขาวิเคราะห์ว่า เป็นการแต่งตั้งที่ไม่ได้ช่วยให้อะไรดีขึ้น ณ เวลานั้น เนื่องจาก ฮิดดิ้งค์ ตกยุคไปนานแล้ว
แถมยังตอกย้ำความย่ำแย่ด้วยการไปใช้งาน แดนนี่ บลินด์ต่อ … จนตกรอบคัดเลือกฟุตบอลยูโร 2016 เมื่อกลางปีที่แล้ว
กุนซือก็ถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัย แต่ต้องยอมรับว่าทุกฝ่ายต้องรับผิดชอบร่วมกัน … ลีกดัตช์เองก็ตกต่ำถึงขนาดที่ว่าไม่สามารถป้อนนักเตะระดับเอกอุไปเล่นที่ต่างประเทศได้อีกต่อไป ส่งผลให้ไม่มีดาวรุ่งคนไหนได้รับการต่อยอดจนกลับมาเป็นที่พึ่งพิงให้ทีมชาติ
จากปี 2014 เป็นต้นมา … เนเธอร์แลนด์ก็ยังคงหวังแต่ว่าจะให้ เวสลี่ย์ สไนจ์เดอร์ และ อาร์เยน ร็อบเบน ประคองทีม
จนกลายเป็นว่าทีมชีทตอนนี้ของ “อัศวินสีส้ม” น่าเป็นห่วงถึงขนาดที่ว่า ถ้าไม่มี ร็อบเบน ก็ไม่มีใครที่จะเป็นนักเตะชื่อดังพอจะฝากผีฝากไข้ไว้ได้อีกแล้ว
ดิ๊ก อั๊ตโวคาท อาจเข้ามาทำให้ผลงานดีขึ้นในช่วงท้าย แต่ซากที่ บลินด์ผู้พ่อ ละเลงทิ้งไว้ มันเละเกินกว่าที่ กุนซือวัย 70 ปี จะเข้ามาแก้ไขสถานการณ์ได้ทัน
เกมสุดท้ายในรอบคัดเลือกทุกอย่างชัด … ร็อบเบน ต้อง “แบกทีม” และยิงคนเดียวสองประตู เอาชนะ สวีเดน ก่อนจะตกรอบไปแบบไม่ชอกช้ำมากนัก
แต่เขาก็ตัดสินใจวางสิ่งที่เขาแบกจนหนักอึ้งลงไปแล้ว … หลังจบเกม ร็อบเบน โบกมืออำลา … จะไม่มีเขาในสีเสื้อ เนเธอร์แลนด์อีก
จากนี้ไปเหลือแต่ โจทย์ ให้ KNVB ต้องตามมา “ปฏิวัติ” มองในแง่ดีนี่เป็นการเซตทุกอย่างให้เป็นศูนย์ใหม่ทั้งหมด
เป็นไปได้ว่าเราอาจไม่ได้เห็น เนเธอร์แลนด์ ในยูโร 2020 รวมไปถึง ฟุตบอลโลก 2022 … เพราะการสร้างซูเปอร์สตาร์มารับช่วงต่อรุ่นพี่ มันก็ไม่ได้ใช้เวลาเพียงแค่ปีหรือสองปี
แต่โครงสร้างฟุตบอล ค่อยๆพัฒนาได้ … อย่างน้อยที่สุด พวกเขายังมีสโมสรที่ชื่อ อาแจ็กซ์ อัมสเตอร์ดัม หรือ พีเอสวี ไอนด์โฮเฟ่น
แม้จะไม่มีต้นไม้ที่เติบโตแผ่กิ่งก้านใบอยู่ที่เนเธอร์แลนด์ตอนนี้แต่อย่าลืมว่าที่นั่นคือแหล่งเพาะพันธุ์ต้นกล้าฟุตบอลที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก
ปล. การคัดเลือกฟุตบอลโลกยังไม่จบดีครับ ติดตามภาค 2 หลังจากได้ข้อสรุปของทุกโซนแล้ว เดือนหน้าครับ
Dropballs
Leave a Reply